ศาสนาแบบมาร์กซิสต์


ศาสนาและอุดมการณ์
(Religion and Ideology)

มุมมองแบบมาร์กซ์มองว่าศาสนาและอุดมการณ์มีความสำคัญอย่างมากในฐานะที่เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองที่จะนามาใช้สร้างประโยชน์ในการปกครองชนชั้นอื่นได้แม้จะเป็นโลกปัจจุบันก็ตาม

มาร์กซ์ได้นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการวิพากษ์ศาสนาไว้ในงานเขียนสำคัญที่ชื่อ บทวิพากษ์ปรัชญาว่าด้วยสิทธิของเฮเกล (The Critique of Hegel f Hegel ’s Philosophy of Right 1843) โดยเขามองว่าเมื่อมนุษย์ได้มุ่งให้ความสำคัญกับพระเจ้าเมื่อนั้นผู้คนก็ยากลำบาก และเมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อนั้นผู้คนก็ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว (Marx, 2000: 72) สำหรับมาร์กซ์ศาสนานั้นเป็นการแสดงออกซึ่งความไม่สมบูรณ์ของการตระหนักรู้ในตัวเองของมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลเท่านั้นแต่เป็นมนุษย์ทั้งสังคมอีกด้วย ศาสนานั้นเปรียบได้กับการเป็นดวงใจให้กับโลกที่ไร้หัวใจ (โลกของนายทุน/ทุนนิยม) ศาสนานั้นเปรียบได้ดั่งกับฝิ่นเพราะมันได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือระงับความเจ็บปวดและความทุกข์ระทมทั้งหลายให้กับมวลชน (Marx, 2000: 72)

ใน อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) มาร์กซ์ได้เสนอว่าจริงๆแล้วในโลกของพวกนายทุนอุตสาหกรรมนั้นต้องการที่จะขจัดแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและเรื่องศีลธรรมให้ออกไปหรือลดทอนความสำคัญลงเหลือเพียงการเป็นเรื่องเล่าโกหกเท่านั้น เหตุผลในมุมนี้ก็คือหากกรรมาชีพได้รวมตัวกันเพราะศาสนาและแนวคิดเรื่องศีลธรรมได้สอนว่าพวกนายทุนนั้นเอาเปรียบกรรมกรอยู่ได้ก่อตัวขึ้น การครองอำนาจของพวกนายทุนนั้นก็จะลำบากยิ่งขึ้นนั่นเอง และศาสนานั้นเป็นเพียงภาพลวงตาและไม่ได้มีหน้าที่ใดๆนอกเหนือไปจากการทำหน้าที่การบดบังความเลวร้ายของระบบการผลิตแบบทุนนิยมเท่านั้น (Marx, 2000: 479) มาร์กซ์มองว่าภาพลวงตาของศาสนานั้นจะหายไปได้เมื่อมนุษย์นั้นได้พบกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีเหตุมีผลและนั่นเองจะเป็นการช่วยสังคมทั้งมวลได้จากความผิดหวังต่างๆ

สำหรับมาร์กซ์นั้นพระผู้เป็นเจ้าไม่มีอยู่จริงเพราะมาร์กซ์อธิบายว่าศาสนาและพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์ขึ้นมา แต่เป็นมนุษย์นี่เองที่เป็นผู้สร้างศาสนาขึ้นมาด้วยเหตุนี้มนุษย์นี่เองจึงเป็นผู้ที่สร้างพระเจ้าขึ้นมาด้วยเช่นกัน ดังนั้นสำหรับมาร์กซ์ศาสนาจึงเป็นเพียงเรื่องของจิตสำนึกของผู้คน (Self -consciousness) และการเติมเต็มทางจิตใจ (Self -esteem) ของมนุษย์ผู้ไม่สามารถเติมเต็มสิ่งต่างๆให้กับตนเองได้ มาร์กซ์มองว่าสังคมมนุษย์และรัฐนั้นต่างสร้างศาสนาขึ้นมาด้วยกันทั้งคู่ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการบิดเบือน (และกลับหัวกลับหาง) จิตสำนึกของผู้คนจากที่ควรจะเป็น (Inverted consciousness) ในการมองโลก 

แต่อย่างไรก็ตามมาร์กซ์มองว่าโลกของนายทุน (โลกทุนนิยม) นั้นก็เป็นเช่นนี้ กล่าวคือเป็นโลกที่ผิดเพี้ยนและกลับหัวกลางหาง (Inverted world) อยู่ในหลากหลายแง่มุมมาร์กซ์เสนอมุมมองว่าหากเราจะทำความเข้าใจศาสนาในสังคมหนึ่งๆเราต้องทำความเข้าใจมันผ่านมุมมองประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยม (Historical materialism) กล่าวคือเราต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบทางการผลิตของสังคมนั้นๆรวมถึงแง่มุมเชิงอุดมการณ์ของมันด้วยว่าสังคมนั้นๆมีการต่อสู้ในเรื่องเหล่านั้นอย่างไรบ้างก็จะพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดศาสนาจึงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นมาเพื่อทำงานรองรับผลประโยชน์ของกลุ่มพลังใดในสังคม 

มาร์กซ์อธิบายว่าหากเราสามารถเข้าใจถึงศาสนาได้เราจะเข้าใจถึงสภาวะแปลกแยกในตนเอง (Self - alienation) ที่มนุษย์ได้เผชิญภายใต้รูปแบบอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา และเมื่อนั้นเราก็สามารถแสวงหาทางออกจากสภาวะแปลกแยกในรูปแบบอื่นๆ (ที่ไม่มีรูปแบบศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนา) ได้เช่นกัน สิ่งที่มาร์กซ์เสนอก็คือว่าเราต้องเปลี่ยนการวิพากษ์เรื่องศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาทั้งหลายมาเป็นการวิพากษ์ในเรื่องทางโลกให้ได้ เราต้องเปลี่ยนจากการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องศาสนามาพูดคุยกันในเรื่องของกฎหมาย และเปลี่ยนจากการคุยกันเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆมาถกเถียงกันที่เรื่องการเมืองให้ได้ และนั่นก็จะเป็นโอกาสในการปลดปล่อยมนุษย์จากอิทธิพลของศาสนาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น